About

ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบ้านท่าข้ามบน (Learning Center of Philosophy of the Sufficiency Economy of Banthakhambon) เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่พยายามศึกษาและถ่ายทอดศาสตร์ของพระราชาในด้านต่างๆ เท่าที่จะทำได้ตามศักยภาพที่มี

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

พระราชดำรัสที่เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง
   ไม่ต้องทั้งหมดแม้จะไม่ถึงครึ่ง อาจจะเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถที่จะอยู่ได้   
การแก้ไขจะต้องการแก้ไขจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ
โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อนแต่ว่าถ้า
ทำตั้งแตเดี๋ยวนี้ก็จะสามารถที่จะแก้ไขได้


การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่ พอกิน
และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินหมายความว่า
อุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง


อันนี้เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้อง
ผลิตอาหารของตัวจะต้องทอผ้าใส่ให้ตัวเองสำหรับครอบครัวอย่างนั้นมันเกินไป
แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ  จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่ง บางอย่างที่ผลิตได้
มากกว่าความต้องการก็ขายได้แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก


๑. กรอบแนวคิด ของ เศรษฐกิจพอเพียง
๑.๑ เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตน ในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย
๑.๒ เป็นปรัชญาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
๑.๓ เป็นปรัชญาที่มองโลกเชิงระบบที่มีลักษณะพลวัตร กล่าวคือ มองว่าสถานการณ์ในโลกนั้นมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา  
๑.๔ เป็นปรัชญาที่มุ่งผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤตในแต่ละช่วงเวลาเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา (sustainability) ในมิติต่างๆอาทิ มิติทางธรรมชาติ ทางสังคม และทางเศรษฐกิจ
๑.๕ อาจจะกล่าวได้ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกระบวนการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ (paradigm shift)

๒. คุณลักษณะ (Characteristics) ของ เศรษฐกิจพอเพียง
๒.๑ เป็นแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย
๒.๒ เป็นปรัชญาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ กับการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ (scalable) ทั้งระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับรัฐ กับคนทุกระดับ อาทิ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจ เป็นต้น
๒.๓ แนวคิดทางสายกลาง (Middle Path) เป็นหัวใจสำคัญ กล่าวคือ
๒.๓.๑ ไม่ใช่การปิดประเทศอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ใช่การเปิดเสรีอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมของคนและสังคม ในการเข้าสู่กลไกตลาด
๒.๓.๒ ไม่ใช่การอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือ พึ่งพิงภายนอกหรือคนอื่นทั้งหมด แต่เน้นความคิดและการกระทำที่จะพึ่งตัวเองเป็นหลัก (self-reliance) ก่อนที่จะไปพึ่งคนอื่น
๒.๓.๓ ทางสายกลางในที่นี้หมายถึง วิธีการ หรือการกระทำที่พอประมาณบนพื้นฐานของความมีเหตุผลและสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้รอดพ้นวิกฤต และทำให้สังคมและประเทศสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง  และยั่งยืน  

๓. คำนิยาม (Working Definition) ของ เศรษฐกิจพอเพียง
ความพอเพียง (Sufficiency) จะต้องประกอบด้วย ๓ ขาดคุณลักษณะใดคุณลักษณะหนึ่งไม่ได้
๓.๑ ความพอประมาณ (Moderation) หมายถึง ความพอดี (dynamic optimum) ที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป ในมิติต่างๆของการกระทำ[1] ตัวอย่างเช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ เพื่อนำไปสู่ความสมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลง
๓.๒ ความมีเหตุผล (Reasonableness) หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอประมาณในมิติต่างๆนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุ ปัจจัย และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆอย่างรอบคอบ
๓.๓ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร (Self – Immunity) เพื่อเตรียมตัวพร้อมรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ

๔.  เงื่อนไข (Conditions of Sufficiency Actions) ของ เศรษฐกิจพอเพียง
๔.๑ เงื่อนไขกรอบความรู้ (Set of Knowledge) ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับพอเพียงต้องอาศัย
๑. ความรอบรู้ คือมีความรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆอย่างรอบด้าน
๒. ความรอบคอบ คือความสามารถที่จะนำความรู้และหลักวิชาต่างๆเหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงสัมพันธ์ประกอบการวางแผนทุกขั้นตอน
๓. ความระมัดระวัง คือความมีสติในการนำแผนปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนหลักวิชาต่างๆเหล่านั้นไปใช้ในทางปฏิบัติ  
๔.เงื่อนไขคุณธรรม (Ethical Qualifications) ได้แก่
๑. ด้านจิตใจ/ปัญญา โดยเน้นความรู้คู่คุณธรรม กล่าวคือ ตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรอบรู้ที่เหมาะสม
๒. ด้านการกระทำหรือแนวทางการดำเนินชีวิต โดยเน้นความอดทน ความเพียร สติ ปัญญา และความรอบคอบ

๕. แนวทางปฏิบัติและผลที่คาดว่าจะได้รับ ของ เศรษฐกิจพอเพียง
๕.๑. ทำให้เกิดทั้ง วิถีการพัฒนา และผลของการพัฒนาที่สมดุล และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ
๕.๒. ความสมดุลและความพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ในทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความรู้/เทคโนโลยี นำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนา พร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง


[1]  ความพอประมาณ อาจพิจารณาจากความพอดีใน ๗ มิติ คือ พอดีกับเหตุ พอดีกับผล พอดีกับตน พอดีในเชิงปริมาณ พอดีกับกาล พอดีกับชุมชนและพอดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือ สัปปุริสธรรม ๗
ที่มา : กลุ่มพัฒนากรอบแนวคิดทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์.(๒๕๔๖). กรอบแนวทางคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก. http://www.sufficiencyeconomy.org/show.php?Id=55. (วันที่ค้นข้อมูล ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑). 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น